My Barber Man, MONDAY, 26. NOVEMBER 2007, 14:34:02

ข้อเขียนนี้ตั้งต้นมาจากข้อสมมติฐานส่วนตัวว่า “คนเรานั้นมักจะไม่เปลี่ยนร้านตัดผมกันบ่อย” …และมีเหตุผลสนับสนุนคือ กิจกรรมการตัดผมนั้นจำต้องอาศัย “การสื่อสาร” ที่ดีเยี่ยมระหว่างผู้ตัดและผู้ถูกตัด และการจะหาร้านตัดผมที่เข้าใจความต้องการของเราและเนรมิตทรงผมออกมาได้ถูกใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ฉะนั้น เมื่อเราเกิดความพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับจากร้านใดร้านหนึ่ง เราจึงมักไม่ค่อยจะเปลี่ยนไป “ลองของ” ร้านใหม่ๆ

สำหรับตัวผมเองแล้ว การที่เราจะค้นพบค้นหาร้านตัดผมที่ให้บริการได้ถูกใจเรานั้น ไม่ต่างอะไรจากการตามหาใครสักคนมาเป็นคนรักของเรา เพราะมันต้องผ่านกระบวนการของการลองผิดลองถูก มีทั้งหวาน (เมื่อช่างตัดถูกใจเรา) มีทั้งขม (เมื่อเราได้ทรงผมที่ไม่ถูกใจ) ผ่านการดูใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และมีบางครั้งที่อาจทะเลาะเบะแว้งไม่ลงรอยกัน (เมื่อเราอยากได้ทรงผมแบบหนึ่ง แต่ช่างอยากจะตัดอีกแบบหนึ่ง) …การได้พบร้านตัดผมที่ถูกใจ (และถูกสตางค์) จึงเหมือนกับการได้พบคนที่ต้องใจซึ่งเราอยากจะรักษาความสัมพันธ์ให้เนิ่นนานยืดยาว

โดยเหตุที่หัวใจสำคัญของการตัดผมได้แก่ การสื่อสาร นี่เอง ทำให้ผมต้องพบกับความยากลำบากเป็นอย่างยิ่งเมื่อต้องมาศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น …ลำพังแค่การหาร้านตัดผมในเมืองไทยที่โดนใจเราก็เป็นเรื่องยากแล้ว แต่การตัดผมในญี่ปุ่น ถือเป็นความท้าทายที่มีอัตราความเสี่ยงสูงยิ่งสำหรับคนที่มีความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นในระดับศูนย์เช่นผม …การตัดผมครั้งแรกในญี่ปุ่น จึงนับเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำยิ่ง

ในช่วงเดือนแรกๆ ของการเดินทางมาถึงที่นี่นั้น ความวิตกกังวลยังมีไม่มากนัก แต่เมื่อเส้นผมเริ่มจะรุงรังมากขึ้น ความวิตกกังวลก็ค่อยๆ เพิ่มระดับแปรผันตามความยาวของเส้นผม …และมันก็มาถึงจุดวิกฤตเมื่อผมเริ่มทนไม่ได้ต่อความกระเซอะกระเซิงของตนเอง (จริงๆ แล้ว จุดแตกหักเกิดมาจากความเป็นคนขี้รำคาญ ซึ่งมิอาจทนต่อการทิ่มแทงของเส้นผมตามหน้า คอ หรือหูได้)

หลังจากทำใจอยู่นาน ผมก็เริ่มหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจและทำให้ทราบว่า ร้านตัดผมในญี่ปุ่นนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ เช่นเดียวกับในเมืองไทย นั่นคือ ร้านแบบบาร์เบอร์ กับแบบซาลอน …ด้วยความที่คิดว่าตนเองยังอยู่ในวัยรุ่น (แม้นจะค่อนปลายไปมากก็ตาม) ก็อยากจะลองตัดในร้านแบบซาลอนตามสมัยนิยม …แต่ที่สุดผมก็ต้องเปลี่ยนใจ ภายหลังรับฟังคำบอกเล่าจากเพื่อนคนหนึ่งก็ทราบว่า ในร้านแบบซาลอนนั้น โดยมากการตัดผมจะมาเป็นแบบแพ็คเกจ คือ ตัดผมและกันคิ้ว …โปรดอย่างแปลกใจ…ผู้ชายในญี่ปุ่นโดยเฉพาะในวัยรุนนั้น จะนิยมกันคิ้วให้โก่งเรียวเป็นคันศร …ผมจึงต้องกลับมาตั้งหลักคิดใหม่ ด้วยไม่รู้จะบอกช่างเป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างไรว่า “ตูไม่กัน ตูม่ายก๊านคิ้ว (โว้ย)” เพราะกลัวตนเองจะมีรูปลักษณ์เหมือนกับนักร้องวัยรุ่นญี่ปุ่น (แม้นว่า หน้าตาจะเอื้ออำนวยก็ตาม…กระโถนๆ) กอปรกับค่าบริการในร้านแบบนี้ก็ค่อนข้างแพง คืออย่างถูกๆ ก็ไม่ต่ำกว่า 3 พันเยน …ผมก็เปลี่ยนเป้าหมายจากสาวจี๊ดจ๊าดนำสมัย ไปสู่ผู้หญิงที่ดูเรียบๆ แต่เชื่อถือได้แทน นั่นคือ ร้านบาร์เบอร์

นับเป็นโชคดีที่ผมค้นพบว่า มีร้านตัดผมแบบบาร์เบอร์แห่งหนึ่งตั้งอยู่แถวๆ สถานีรถไฟ Hanshin Mikage ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนรถเมล์ที่ผมต้องแวะเกือบทุกวันเมื่อครั้งยังไม่ย้ายหอพัก จุดดึงดูดให้ผมตัดสินใจไปลองของก็ด้วยป้ายโฆษณาหน้าร้านตัวโตที่บอกราคาค่าบริการว่าเพียง 1 พันเยน ซึ่งถือว่าถูกมากๆ

เมื่อตัดสินใจเดินเข้าร้าน ผมก็ต้องงงเล็กน้อยกับระบบของร้าน …หลังจากยืนเงอะๆ งะๆ สักพัก เจ้าของร้านก็เข้ามาบอกว่า ผมต้องซื้อบัตรตัดผมเสียก่อนโดยสอดแบงก์พันเยนเข้าไปที่เครื่องซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางเข้าก็จะมีบัตรเด้งออกมา จากนั้นก็ต้องไปนั่งรอ …ร้านแห่งนี้มีช่างเพียงแค่ 2 คน เข้าใจว่าน่าจะเป็นคู่สามี-ภรรยา โดยฝ่ายชายก็จะตัดผมผู้ชาย ฝ่ายหญิงก็ตัดผมผู้หญิง มีการ “แยกเพศ” อย่างชัดเจน ไม่มีการปะปน “ร่วม…” แต่อย่างใด

ร้านแห่งนี้น่าจะเป็นร้านยอดนิยมของผู้คนภายในชุมชนบริเวณนี้ ลูกค้าก็มีทั้งหญิงและชาย ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ …ระหว่างนั่งรอนั้น ผมรู้สึกประหม่าวิตกเหมือนกับคนรอสัมภาษณ์สมัครงาน พยายามหมกมุ่นครุ่นคิดว่า “ตู จะพูดกับมันยังไงดีหว่า” …และแล้วเมื่อถึงคิวเชือด ผมก็เดินขาสั่นๆ เข้าไปนั่งบนเก้าอี้ ฝ่ายช่างก็ไม่รอช้า เล่นยิงคำถามมาเป็นชุดในภาคภาษาญี่ปุ่น ผมก็ได้แต่ทำหน้าเอ๋อๆ พร้อมกับพูดประโยคเอาตัวรอดว่า “เอ่อ…ขอโทษนะครับ ผมไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น” แล้วก็ไม่รีรอให้ช่างพูดอะไรต่อ ผมรีบชิงทำท่าทางอย่างคนหมดหวังให้ช่างเข้าใจว่าผมต้องการทรงผมเช่นไรโดยการยกมือขึ้นจับผม พร้อมกับพูดว่า “ช็อตโตะ ช็อตโตะ เน่อ…” (พยายามจะบอกว่า อยากจะตัดอะไรก็ตัดไป แค่ให้มันสั้นก็พอแล้วคร้าบ…)

กรรมดีที่เคยไปให้อาหารปลาที่ท่าน้ำวัดไร่ขิงก็ช่วยชีวิตผมอีกครั้งหนึ่ง เพราะช่างคนนี้นั้นมีความละเอียดอ่อนและเป็นมืออาชีพสูงมาก แม้นเรามิอาจจะบรรลุซึ่ง “การสื่อสารที่สมบูรณ์แบบ” แต่เขาก็ไม่หักหาญตัดผมไปตามอารมณ์ หากแต่จะหมั่นจับเส้นผมของผมขึ้นมา และถามก่อนจะตัดทุกครั้งว่า “โอเคะ โอเคะ” แปลได้ว่า “สั้นขนาดนี้พอมั้ย” หรือ “จะตัดผมส่วนนี้นี่โอเคหรือเปล่า” …ผมก็ได้แต่ตอบว่า “ไฮ่ๆๆๆๆ” ไปตามเรื่องตามราว และพยายามส่งรอยยิ้มผ่านกระจกเป็นระยะๆ ว่า ผมพอใจกับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่

เมื่อเห็นว่าผมพอใจ My Barber Man ของผมก็เริ่มทนต่อความเงียบไม่ไหวตามประสาคนมนุษยสัมพันธ์ดี พี่แกก็เริ่มพยายามพูดภาษาอังกฤษอย่างกระท่อนกระแท่นเพื่อชวนผมคุย และพลันที่เขาพบว่าผมนั้นเป็นคนไทย ก็หยุดตัดผมอย่างกะทันหันพร้อมกับวิ่งไปหลังร้าน สักพักก็โผล่มาพร้อมกับปฏิทินซึ่งมีรูปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย และพูดกับผมพร้อมๆ กับเอานิ้วจิ้มรูปภาพทำนองว่า “นี่ๆ ที่นี่ไปเที่ยวมาแล้วนะ” ทำนองนั้น แล้วก็หันไปพูดกับภรรยาซึ่งกำลังตัดผมลูกค้าอยู่เช่นกันอย่างดีใจ …จากนั้นผมก็หมดโอกาสที่จะหลบเลี่ยงบทสนทนาด้วยการงีบหลับอีกต่อไป เพราะพี่แกหาเรื่องชวนผมคุยได้ตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องเรียน ไปจนถึงเรื่องสาเก ผมเองก็เริ่มเพลิดเพลินไปกับบทสนทนาที่เกิดขึ้น แม้นจะเข้าใจกันบ้างไม่เข้าใจกันบ้างก็ตามที

แม้นว่าเราจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร แต่นายช่างผู้นี้ก็รู้ถึงธรรมชาติของเส้นผมและความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี ในกรณีของผมนั้นเขาใช้แต่กรรไกรในการตัดเท่านั้น แต่ด้วยฝีมือก็สามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว หากเปี่ยมด้วยความประณีตและละเอียดรอบคอบ หลังจากเสร็จเรียบร้อยผมจึงยิ้มแก้มปริอย่างพึงใจ และก็ขอปวารณาฝากตัวเป็นลูกค้าประจำของนายช่างผู้นี้ตั้งแต่บัดนั้นมาจนปัจจุบัน

หากจะมีเรื่องชวนอึดอัดใจก็คงมีเพียงว่า ในทุกๆ ครั้งที่ผมกลับไปใช้บริการ พี่แกก็จะเริ่มทักผมด้วยคำถามที่ว่า “อ้า…ครั้งนี้มาตัดเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วนะ?” ขณะที่ผมทำท่าครุ่นคิด แกก็จะชิงตอบก่อนทุกครั้งว่า “นี่ ครั้งเป็นครั้งที่…เท่านั้นเท่านี้…แล้วนะ” แล้วก็ยิงคำถามที่ชวนให้ผมกระอักกระอ่วนใจว่า “แล้วตอนนี้ภาษาญี่ปุ่นพัฒนาไปถึงไหนแล้ว?” …ผมทำได้แต่เพียงยิ้มแหยๆ ทุกครั้งไป

ผลงานการสร้างสรรค์ของช่างผู้นี้มิได้นำความพอใจมาแก่ผมเท่านั้น หากแต่เพื่อนผมหลายๆ คนต่างก็ชมว่าฝีมือดี เลยพากันไปฝากตัวเป็นลูกค้าบ้าง เพราะนอกจากผลงานแล้วราคาก็ย่อมเยา ต่างจากร้านในย่านกลางเมืองซึ่งแม้นจะติดราคาว่า 1 พันเยน แต่ก็มีการจำกัดเวลา เช่น 1 พันเยนต่อครึ่งชั่วโมง หากตัดไม่เสร็จภายในครึ่งชั่วโมงเราก็ต้องเสียเงินเพิ่มไปตามเวลา

ในปัจจุบัน แม้นว่าผมจะย้ายที่พักแล้ว อีกทั้งใกล้ๆ หอพักก็มีร้านตัดผมราคาถูก คือ 980 เยน ก็ตาม …แต่เมื่อเห็นผลงานผมก็ไม่คิดเปลี่ยนใจไปลองของใหม่ (เพราะแม้นจะราคาถูก แต่ผมรับไม่ได้กับการมีทรงผมแบบเว้าๆ แหว่งๆ ไม่เท่ากัน) …กลับยอมถ่อนั่งรถไฟไปตัดกับนายช่างคนเดิมของผมตลอดระยะเวลาของการเรียนที่นี่

…ในเมื่อบุรุษไปรษณีย์ยังมี The Carpenters แต่งเพลง “Please, Mr. Postman” ให้ แล้วทำไมนายช่างของผมถึงไม่มีใครแต่งเพลง “Oh! My Barber Man” ให้สักทีน้า…

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *